Sunday 23 May 2010

Orange Ocean

A capture/ translation from a public lecture CREATIVE UNFOLD 2008 at TCDC

เป็นเกียรติมาก แล้วก็ตื่นเต้นมากนะครับ จริง ๆ ก็ไปพูดมาหลายที่ ทั้งไปพูดในเมืองไทยและในต่างประเทศ แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่รู้สึกตื่นเต้นเท่ากับการพูดในครั้งนี้ ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน

จริง ๆ การเริ่มต้นการบรรยายนี้จะง่ายถ้าผมเอาอนุสาวรีย์ใครสักคนหนึ่งมาตั้งบนเวที ซึ่งวันนี้ผมก็เลือกคุณ Kevin Kelly ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Out Of Control เมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่ผมเพียรพยายามอ่าน ผมจะมีความสามารถมากในการอ่านหนังสือแล้วไม่จบ คือจะอ่านเฉพาะตรงที่อยากอ่าน แล้วไม่เคยอ่านจบ คนก็จะนึกว่า ดวงฤทธิ์ นี่มันอ่านหนังสือเยอะแล้วนะ Reference หนังสือมาได้เยอะมาก แต่จริง ๆ ผมไม่เคยอ่านหนังสือจบสักเล่มเลยนะครับ เล่มนี้ก็อ่านไม่จบเหมือนกันนะครับ โดยอ่านเฉพาะตรงที่เขาเขียนนะครับ 9 Laws Of God สำหรับ Kevin Kelly นั้น เขาเป็นคนพูดถึงเรื่อง New Economy มาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในสมัยที่ Internet กำลังจะเบ่งบานนะครับ แล้วก็พูดถึงหลักการ 9 ข้อที่สำคัญในเรื่องว่าจะทำอย่างไรถ้าเกิดเขาเป็นพระเจ้าเนี่ย เขาจะสร้างโลกนี้ขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง คือในโลกนี้มันมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ซึ่งชีวิตที่อยู่บนโลกใบนี้ก็เปลี่ยนโลก แล้วก็ทำให้เกิดชีวิตมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากการที่ไม่มีอะไรเลยเนี่ย โอกาสที่มันจะเกิดงอกเงยต่อไปได้เนี่ยมันยากมาก ผมชอบประโยคที่ว่า “Them That Have Get” ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าคุณอยากได้คุณต้องมีเสียก่อน ซึ่งฟังดูแล้วมันกวน ๆ นะครับ เพราะมีแล้วจะอยากได้ทำไม แต่ว่า เหมือนอย่างวันนี้ก็เหมือนกันผมคิดว่า Confident Built Confident โดยถ้าเกิดเรามีความมั่นใจในสิ่งที่เราทำ มันก็จะเกิดความมั่นใจต่อเนื่องกันไปได้ ผมชอบอันนี้นะครับ อันนี้พูดถึงเรื่อง Diversity พูดถึงเรื่องความหลากหลาย เราเองมักจะมองว่า Design ก็ดี หรือว่าเรื่องราวที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราก็ดี มันควรที่จะมีข้อสรุปในแนวทางเดียว ซึ่งอันที่จริงแล้วความหลากหลายนี่เป็นบ่อเกิดของชีวิต เป็นบ่อเกิดของวิวัฒนาการ ซึ่งสำหรับผมแล้วผมชอบเรื่องวิวัฒนาการมากกว่า Design นะครับ และผมก็พยายามที่จะศึกษาว่าวิวัฒนาการมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการได้คือ Diversity หรือความหลากลายนั่นเอง ผมเป็นคนที่ทำผิดมาเยอะมาก ซึ่งผมไม่ใช่คนที่ทำอะไรถูกตลอด โดยมีเรื่องที่ผมทำผิดมาเยอะ ซึ่งบางครั้งผมก็รู้สึกว่าไม่อยากให้มันผิดพลาดเหมือนกัน แต่คุณ Kevin Kelly นี่ก็บอกว่า “ไม่ต้องห่วง เพราะว่าการที่เราจะออกไปจากกรอบใดกรอบหนึ่งได้ หรือความคิดแบบใดแบบหนึ่งได้นั้น มันจะต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งความคิดในเรื่องของวิวัฒนาการทั้งหมดเป็นเรื่องของความผิดพลาดแท้ ๆ” คือมันควรจะทำอะไรไปอย่างหนึ่งแล้วมันดันพลาด แล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นจุดกำเนิดของวิวัฒนาการ โดยถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์นี่ เราก็จะพบว่าการค้นพบดินปืน หรือการค้นพบอะไรต่าง ๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่นะครับ หรือแม้กระทั่งนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่เวลาค้นพบอะไรที่สำคัญและเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุนะครับ มันเป็นความซวยหรือความผิดพลาดอะไรบางอย่าง แล้วมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าเราออกแบบระบบอะไรก็ตามนะครับ หรือการทำงานออกแบบอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่เปิดช่องให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เลย โอกาสที่จะทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่นี่มันยากเหลือเกิน ผมก็เลยเห็นด้วยกับคุณ Kevin Kelly ที่ว่า วิวัฒนาการทั้งหมด เป็นการบริหารจัดการความผิดพลาดอย่างมีระบบก็ได้ แล้วก็เป็นคนโลภนะครับ คือมีความต้องการหลายอย่าง แล้วก็มีเป้าหมายหลายอย่าง ซึ่งทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะเขาคิดว่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมันมีวัตถุประสงค์ มีเป้าหมายหลายอย่างทั้งนั้นเลย คนคงไม่ได้เกิดมาสืบพันธุ์อย่างเดียว หรือคนคงไม่ได้เกิดมาเป็นสถาปนิกอย่างเดียว โดยคนมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราก็มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ต้นไม้ก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อออกดอกเพียงอย่างเดียว มันก็มีสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะแยะ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือว่า ไม่ว่าเราจะออกแบบอะไรขึ้นมาก็ตาม บางครั้งหากจำเป็นที่จะทำให้มันรอดได้ต้องใช้การสร้างเป้าหมายให้มันหลาย ๆ อย่างด้วยกัน แล้วก็อันนี้เป็นสิ่งที่ผมชอบที่สุด และก็เป็นสิ่งที่ผมพูดบ่อยที่สุด คือ “ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คุณก็ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ให้หนักเข้าไปอีก” คือ “Change, Change Just Itself” ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มันสร้างได้ สร้างระบบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ประโยคนี้ที่บอกว่า “ถ้าวิวัฒนาการแปลว่าการที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลา Deeper Evolution เป็นการสร้างกฎเกณฑ์ในการเปลี่ยนแปลงนั้นอีกที” เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง งานออกแบบผมก็คิดว่ามันก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง อย่าคิดว่าเราทำแล้วมันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไป แล้วไม่เปิดโอกาสให้มันมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ได้ทำให้ผมได้คิดหลายเรื่อง ผมทำงานกับคนหลายคน โดยผมทำงานกับ Marketing ผมเคยทำงานกับวิศวกร ซึ่งผมค้นพบว่า คนมีกล่อง คนทุกคนมีกล่อง บางคนก็มี 4 กล่อง 5 กล่อง หรือ 6 กล่องก็แล้วแต่ และเราทุกคนก็พยายามจะจับทุกอย่างใส่ลงไปในกล่อง ซึ่งบางทีมันยัดไม่ลงก็พยายามกระทืบกระทืบลงไปเพื่อให้มันลงให้ได้ ซึ่งเราจะมีปัญหานี้เวลาทำงานกับนักการตลาด เวลาที่เราเป็น Designer ซึ่งต้องไปทำงานกับนักการตลาด หรือว่าถ้าคุณเป็นคนทำหนังสือแล้วไปคุยกับ Agency ถ้าคุณทำงานอะไรก็ตามที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ค์ แล้วเวลาคุณไปคุยกับคนอื่น เขาก็พยายามที่จะจับคุณยัดใส่กล่องให้ได้ ถ้าคุณบอกว่าคุณไม่อยู่ในกล่อง หรือคุณใส่กล่องไม่ได้ คุณก็ไม่เข้าพวก แล้วเขาก็ไม่ยอมรับคุณ ซึ่งผมเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ที่นั่งอยู่ในห้องนี้ใส่กล่องได้สักกี่ใบ หรือถ้าเกิดเราบอกว่าทั้งเมืองนี้ล่ะ ทั้งกรุงเทพฯ นี้ล่ะ ทั้งประเทศนี้ล่ะ จริง ๆ แล้วความหลากหลายของมนุษย์เนี่ยมันชั่งมหัศจรรย์นะครับ แล้วผมว่าแต่ละคนก็มีลักษณะที่เป็นปัจเจกค่อนข้างมาก คำถามก็คือว่า แล้วจากนี้ต่อไป การตลาดจะไปทำให้ใครดู จะไปทำให้ใครใช้ คนกลุ่มไหนที่เราอยากจะใช้ ในเมื่อจำนวนของประชากรมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลาผมทำงานออกแบบ หรือออกแบบโรงแรมนะ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งแรกที่จะคุยกับลูกค้า ลูกค้าก็จะมาพร้อมกับความคิดที่บอกว่า “งานใดก็ตามที่คุณออกแบบเนี่ย คุณต้องทำเพื่อให้ได้กับคนหมู่มาก” ปัญหาก็คือว่า เนื่องจากความหลากหลายของคนมันมีมาก เราจะไปจับใครคนใดคนหนึ่งเขาก็ไม่เอา เขาบอกว่าคุณต้องทำเยอะ ๆ ยิ่งเยอะยิ่งดีนะครับ เพราะถ้าเรามีเยอะเราก็ขายได้เยอะ เราก็บอกว่า “แต่มันไม่มี Character นะ” เขาก็บอก “โอเค โอเค อย่างนั้นผมเอาแนวตั้งอย่างนี้แล้วกัน” แต่มันก็ยังเป็นจำนวนที่เยอะอยู่ดี ซึ่งมันจำไม่ได้ว่ากรอบนี้มีสีอะไรบ้าง แต่ของผมมันจะประมาณนี้ คือผมไม่ต้องการจำนวนเยอะ แต่ว่าสามารถจำได้ เดี๋ยวผมจะลองทำให้ดูนะครับ นี่คือกรอบ สมมุติว่านี่คือกรอบที่เหล่า Marketing ชอบทำ ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ ๆ แต่ของผมเป็นกรอบสีขาวนี้ ผมบอกว่าแล้วจำได้ไหมว่าสี่เหลี่ยมแต่ละอันนี่มีบุคลิกยังไง มีสีอะไรบ้าง หรือว่าคุณอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไหน ซึ่งกลุ่มของผมนี่มันชัดนะครับ กลุ่มผมนี่บอกได้เลยว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่เห็นชัดเลย ซึ่งในจอเห็นเป็นสีเขียว ส้ม ฟ้า ซึ่งมันจำได้ง่าย แต่ถ้าเกิดเราย้อนไปดูกลุ่มนี้คุณก็อาจจะบอกไม่ได้ในทันทีว่ามันเป็นสีอะไร หรืออยู่กลุ่มนี้หรือเปล่า นี่คือปัญหา ซึ่งผมมองว่าวิธีคิดแบบเดิมนั้นต้องโยนทิ้งไป คือในแง่ของการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ มันไม่ควรให้ Marketing นำเราได้อีกต่อไป ผมว่าคนที่บริโภคงานออกแบบนั้นไม่ได้สนใจหรอกว่างานออกแบบมันสนองความต้องการเขาหรือเปล่า อย่างที่ Marketing ชอบถาม แต่ผมคิดว่าเขาคิดว่าเขาอยากจะอยู่ในกลุ่มไหนของงานออกแบบนั้น คืออยากให้งานออกแบบสะท้อนความเป็นตัวตนเขาว่าเขาคืออะไร โดยวิธีในการทำ Segment ของตลาดใหญ่ขึ้นนั้น ผมคิดว่าควรมีการทำกลุ่มให้มากกลุ่ม และแต่ละกลุ่มเล็กแต่ชัดเจน อันนี้คือวิธีที่เราไปคุยกับลูกค้าในการทำโรงแรม หรือทำงานออกแบบต่าง ๆ ที่เราทำ ซึ่งมันเป็นเรื่องของกลุ่มย่อย โดยเราเพิ่มกลุ่มย่อยเข้าไปเพื่อ Extend ให้ตลาดมันกว้างขึ้น นี่เป็นวิธีคิดของผม ซึ่งผมชอบยกตัวอย่างบ่อย ๆ คือเรื่องรถยนต์ ไม่รู้ว่าผมชอบรถยนต์หรือเปล่านะ แต่ว่าผมมักจะบอกว่า โอเค เหมือนกับคนออกแบบรถ Lamborghini ก็คงไม่ต้องมาถาม Marketing Research ว่า คนจะขับรถ Sport จะชอบรถ Sport แบบไหน พี่แกอยากทำแบบไหนแกก็ทำออกมา แต่เวลาทำออกมาแล้วมันโดน ปัญหาคือตรงนั้นเท่านั้นเอง ผมก็มักจะบอกลูกค้าว่า “โอเคครับ ผมจะทำเป็นแบบรถ Lamborghini ให้” ลูกค้าก็จะบอกว่า “โอ้ยคุณ ผมเดินทางเยอะ ผมไปต่างประเทศเยอะ นี่ผมเห็นรถ Poss ด้วย รถ Poss ก็สวยนะคุณดวงฤทธิ์ เอามารวมกันไหม” ผมก็บอกว่า “ได้ครับได้” นี่ก็เลยออกมาเป็นรถ Lamborghini ผสมรถ Poss ก็ไปอีกนะครับทางลูกค้าบอกว่า “โอ้ย ผมเห็นรถ Aston Martin ด้วยคุณดวงฤทธิ์ ซึ่งด้านหน้ามันสวยเหมือนกัน เอามารวมกันหน่อยไหม” นี่คือปัญหาของสถาปนิกไทย คือคนที่เข้าใจ Design มี จะบอกว่ารถ Poss ไม่สวยก็ไม่ใช่ รถ Aston Martin ไม่สวยก็ไม่ใช่ เพราะมันสวยหมด แต่ว่าลูกค้าที่น่ารักของเรา พยายามที่จะเอาทุกอย่างรวมเข้าไปด้วยกัน แล้วก็บอกเราว่า “นี่แหละ ในแง่ Marketing แล้วมันต้องดีที่สุด เพราะมัน 1 ก็ดี 2 ก็ดี 3 ก็ดี รวมกัน 3 อย่างมันต้องดี ไม่ดีไม่ได้” อันนี้คือสิ่งที่เขาคิด แต่ Designer ทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้ก็คงเข้าใจว่ามันไม่ใช่ คราวนี้ก็เลยต้องมาคุยกันว่า จริง ๆ แล้ว Design คืออะไร

สำหรับผมแล้วหากจะพูดว่า Design คืออะไรคงอธิบายได้ยาก แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือมันเป็นเรื่องของ Purpose ผมพยายามจะแปลงคำว่า Purpose เป็นภาษาไทย แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้คำว่าอะไรดี ก็เลยขออนุญาตทับศัพท์ว่า Purpose นะครับ โดยตราบใดที่อะไรก็ตามที่เราทำนี้มันมี Purpose มันอาจจะเป็นเรื่องการใช้งาน เป็นเรื่องของความงาม หรือเป็นเรื่องของความคิดอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันมี Purpose ผมว่ามันก็คืองาน Design ซึ่งอันนี้ตรงกับเรื่องที่พี่จิกพูดเมื่อวาน (ถ้าใครได้ฟัง) แกพูดคำว่า “คิดแบบเป๊ะเป๊ะ” คือคำว่า “คิดแบบเป๊ะเป๊ะ” ของแกนั้นคือความคิดที่มันตอบวัตถุประสงค์ชัดเจน สามารถตอบได้แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผมคิดว่า Design นี่มันเป็นเรื่องของ Purpose ตัวนี้ ผมยกตัวอย่างบ่อย ๆ ว่าเหมือนคนเดินขึ้นภูเขา ถ้าเกิดคุณไม่เห็นยอดเขาเนี่ยคุณเดินขึ้นไม่ได้นะครับ พราะฉะนั้น Design ไม่ใช่เรื่องของ Process มันไม่ใช่เรื่องของกระบวนการ มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าคุณมีเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง แล้วนำข้อมูลใส่เข้าไปแล้วมันจะตึ้งตึ้งตึ้งตึ้ง แล้วมันออกมาเป็นงาน Design มันไม่ใช่ โรงเรียนที่ผมเรียนมาตั้งแต่สมัยเด็กเขาก็สอนผมอย่างนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ คุณต้องมองเห็นยอดเขาก่อน มันมีภูเขา แล้วเห็นยอดว่าฉันจะเดินไปที่นี่ คุณจะเดินยังไงมันไม่สำคัญแต่คุณต้องเห็นยอดเขาก่อน ฉะนั้น Design ก็เหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราเห็นก็คือเราจะทำอะไร ซึ่งถ้าเรามี Purpose ชัดเจน เราก็จะ Design ได้

ผมแยก 2 คำออกจากกัน Design ก็เรื่องหนึ่ง Creativity ก็เรื่องหนึ่ง คือถ้าไม่เบื่อมันจะ Create ของใหม่ไม่ได้ ผมจึงค่อนข้างจะเห็นด้วยกับพี่จิกที่พูดเมื่อวานว่า กับคนที่บอกว่าความคิดสร้างสรรค์ค์คือการคิดออกจากกล่อง คือการคิด Think of The Box ซึ่งผมไม่เห็นด้วย โดยผมมองว่าถ้าคิดไม่มีกรอบแล้วมันสร้างสรรค์ไม่ได้ มันต้องมีกรอบ แล้วกรอบนี้ก็เกิดจากความเบื่อ เมื่อเราเบื่อแล้วเราจึงจะออกไปเพื่อมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งใคร ๆ ก็พูดเรื่องนี้ แต่ผมพยายามที่จะเข้าใจมันว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดจากอะไร โดยผมอ่านหนังสือแบบประติดประต่อกันก็สามารถจับใจความได้ว่า จริง ๆ แล้วสมองเรามันเป็นเรื่องของ Pattern เหมือนเป็นเหตุว่าทำไมคนถึงพยายามที่จะจับสิ่งต่าง ๆ อยู่ในกล่อง 5 กล่อง ก็เพราะว่ามันพยายามที่จะทำความเข้าใจกับ Pattern ที่เกิดขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นพื้นฐานการทำงานของสมองเลย โดยสิ่งหนึ่งที่สมองของมนุษย์แจ๋วมากก็คือว่า เมื่อมันอยู่กับ Pattern มาได้ระยะหนึ่ง มันก็จะคิดสิ่งใหม่โดยอัตโนมัติ อันนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในสมองมนุษย์ทุกคนนะครับ ไม่จำเป็นต้องเป็น Designer ไม่จำเป็นต้องเป็น Architect ไม่จำเป็นต้องเป็นนักแต่งเพลง เพียงแต่ว่าถ้าคุณอยู่กับอะไรต่าง ๆ นาน ๆ ซ้ำ ๆ จนเริ่มเกิด Pattern แล้วเนี่ย สมองของคุณก็จะดันออกมาเอง มันดันให้คุณเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เอง ฉะนั้นแล้วความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องพรสวรรค์ แต่มันเป็นเรื่องธรรมชาติซึ่งมันจะเกิดขึ้นเมื่อคุณอยู่กับมันนานพอ สมมุติว่าคุณจะแต่งเพลง ถ้าผมให้คุณฟังเพลงไป 1 เพลง 5 เพลง 10 เพลง ร้อยเพลง พันเพลง หมื่นเพลง แล้วคุณยังแต่งเพลงไม่ได้เนี่ยผมไม่เชื่อ หรือคุณอยากเขียนหนังสือเนี่ย สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือการอ่านหนังสือเยอะมาก อ่านไปสิบเล่ม ร้อยเล่ม พันเล่ม หมื่นเล่ม มันเขียนได้เองนะครับ กระบวนการความคิดสร้างสรรค์นี่ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรนะครับ ถ้าคุณคิดไม่ออกก็มีสาเหตุเดียวก็คือ คุณยังรู้ไม่พอ คุณอ่านไม่พอ คุณยังรับข้อมูลเข้าไปไม่พอ สมองของคุณเลยยังไม่เกิด Pattern และเมื่อมันเกิด Pattern เมื่อไหร่มันออกมาเอง และก็ไม่ต้องใช้ความพยายามด้วย นี่คือ

ศักกายภาพที่สำคัญของสมองมนุษย์ ดังนั้นผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์มันไม่ใช่กระบวนการ มันเป็นธรรมชาติ แล้วต่อให้คุณบังคับให้สมองคุณไม่สร้างสรรค์ก็ทำไม่ได้ด้วย โดยเคล็ดลับที่ผมมักใช้ใน Office ผมเมื่อลูกน้องคิดแบบไม่ออก สมมุติว่าออกแบบบ้าน 1 หลัง ถ้าคิดไม่ออกผมก็จะเอารูปบ้านจากหนังสือต่าง ๆ ที่ดูแล้วมีความคล้ายคลึงกับ Project เรา มาติดที่ผนัง 100 รูป ถ้ายังคิดไม่ออกก็ติดเป็น 200 รูป เคล็ดบที่ผมทำคือต้องการทำให้เป็นแบบ Parrel Perception ซึ่งผมค้นพบว่าวิธีทำเช่นนี้มันเร็วมาก คือสมองมันทำงานเร็วมากที่จะหลุดออกมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นทางลัดที่ทำให้กระบวนการของสมองมันเร็วขึ้น ผมจึงตั้งกฎไว้ 2 อย่าง ถ้าคุณต้องการคิดอะไรให้ออกคือ Enough Information คือมีข้อมูลให้พอ มีเรื่องให้พอ มีเหตุให้พอ และให้การรับรู้นั้นเป็น Parrel คือรับเข้าไปเป็นคู่ขนาน ซึ่งมันจะทำให้สมองทำงานเอง แล้วผมรับประกันให้กระทืบผมตายไปตรงนี้เลย ถ้าหากใครยังทำไม่ได้ผมไม่เชื่อ เพราะมันทำได้อยู่แล้ว แล้วก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ด้วย กลับไปบ้านวันนี้ทำได้เลย ใครบอกว่าคิดแบบไม่ออก ถ้ากลับไปก็ดูสิ่งที่อยากทำ 200 อัน หรือเข้าไปในห้องสมุด TCDC แล้วเปิดมันดูสัก 300 เล่ม ถ้ายังคิดไม่ออกผมให้มาเหยียบเลย ให้เหยียบจริง ๆ นะครับไม่ได้พูดเล่น

อันที่ 3 คือเรื่องใหม่ บางคนก็บอกว่ามันไม่มีหรอกของใหม่ ของใหม่มันเป็นไปไม่ได้ สังเกตว่าผม Challenge 3 คำเลยนะครับ คือคำว่า Design, Creativity และคำว่า New มีคนบอกว่าไม่มีอะไรใหม่ ผมก็บอกมันก็จริงมันไม่มีอะไรใหม่ แต่ถามว่าสิ่งใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งใหม่สำหรับผมมันเกิดขึ้นโดยการที่เราเอา External Force อะไรก็แล้วแต่ สับลงไปบน Internal Force มันมีแรงภายนอกบางอย่างสับลงไปบนแรงภายใน มันก็จะเกิดสิ่งใหม่ อันนี้เป็นตัวไฮดร้า ไม่รู้ว่ามีใครจำได้หรือเปล่านะครับ ซึ่งอันนี้ผมเอามาจากหนังสือของ Graglin ซึ่งเป็นสถาปนิกที่สอนอยู่ที่ Colombia (ถ้าผมจำไม่ผิด) ซึ่งตัวไฮดร้านี้เป็นสัตว์หลายเซลที่น่าสนใจ ซึ่งในกรณีนี้ External Force คือมีด ส่วน Internal Force คือ Biological Force ซึ่งถ้าใช้มีดตัดตรงกลางมันก็จะกลายเป็นไฮดร้าอีกตัวหนึ่ง ถ้าเกิดเราตัดช่องนี้ตรง 3 ช่วงนี้ มันก็จะเป็นไฮดร้าตัวเล็ก ๆ อีก 3 ตัวนะครับ ถ้าเกิดเราตัดตรงคอ มันก็กลายเป็นไฮดร้า 2 หัว ถ้าตัดตรงใกล้ ๆ หางตรงยังไม่ถึงหางพอดี มันก็จะกลายเป็นไฮดร้า 2 หาง ถ้าเราผ่าหัวมันก็จะเป็นไฮดร้า 2 หัวแบบนี้ คนละครึ่งหัวแล้วไม่ตายด้วยนะครับ หรือถ้าเกิดเราผ่ามันดี ๆ แล้วนำมาต่อกันมันก็จะกลายเป็นไฮดร้า 2 หัวแบบมีติ่ง ผมก็ถามว่าอันที่มันเกิดขึ้นนี้มันเป็นไฮดร้าใหม่หมดเลยไหม มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งผมอุปมาอุปไมยว่าวิธีเดียวกันนี้เราสามารถนำมาใช้ในการออกแบบให้เกิดสิ่งใหม่ได้ Methodology ที่ผม Develop มาประมาณ 10 ปีนะครับ ก็คือ Grafting Methodology โดยเราไม่ได้ใช้ตะบี้ตะบันกับทุก Project นะครับ แต่เราใช้กับบาง Project ซึ่งเราต้องการรูปร่างใหม่ Form ใหม่ หรือว่าวิธีคิดใหม่ ในงาน Master Plan ก็ดี หรืองาน Architecture ก็ดี Grafting Methodology ก็คือ External Force สับลงไปใน Internal Force โดยการที่เราสร้าง Grafting อะไรบางอย่างขึ้นมาซึ่งไม่เกี่ยวกับ project เลย แล้วเราก็ Graft มันลงไปบน Project อันนี้คือวิธีการทำงานของ Grafting ซึ่งผมใช้เวลาฝึกอยู่ประมาณ 2 ปีเต็ม ๆ นะครับ ทำให้มันทำเป็น และทุกวันนี้ใน Office ก็ทำกันอยู่ ซึ่งคนที่ใช้ก็ต้องมีความเข้าใจในเรื่องการออกแบบพอสมควร ผมถึงบอกว่าจริง ๆ แล้วมันมีวิธี แต่บางทีความยากง่ายเนี่ยไปสอนเด็กนักเรียนอาจจะทำไม่ได้ เพราะมันยากไป แต่ผมบอกว่าถ้าวันหนึ่งมีใครสนใจก็มาคุยกันได้ ผมไม่สามารถพูดให้เข้าใจได้ภายใน 5 นาทีว่า Grafting Metheology คืออะไร แต่ว่าเอาความคิดไปใช้ ความคิดก็คือว่า External Force ฟันลงไปใน Internal Force ผมเชื่อว่าหาผลของความคิดหรือวิธีนี้เนี่ยในอื่น ๆ ได้อีก นอกเหนือจากสถาปัตยกรรม

อย่าง Reality คนก็ถามว่าอะไรคือ Reality ซึ่งผมพูดบ่อย ๆ ว่า Reality มันเหมือนรูปกรวย คุณสามารถตัดรูปกรวยได้หลายวิธี ผมถามว่าจริง ๆ แล้ว Section ของรูปกรวยนั้นคืออะไร มันคือวงกลมเหรอ คือวงรีเหรอ หรือว่าคือครึ่งวงกลม หรือมันคือสามเหลี่ยม ซึ่งก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะรูปกรวยนี้มันสามารถตัดได้หลายแบบเหลือเกิน แล้วรูปตัดของกรวยมันก็จริงหมด ความจริงในโลกนี้มันเป็นแบบนี้อะนะครับ คือมันไม่มีคำตอบว่าจริง ๆ แล้วมันคืออะไร มันอยู่ที่ว่าคุณอยากตัดมันยังไง คุณก็เห็นมันอย่างนั้น ฉะนั้นต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า ถูกผิดมันไม่ชัด ขาวดำมันไม่ค่อยมี ถามว่าแล้วอะไรระหว่าง Simplicity กับ Complexity อะไรมันถูก อะไรมันผิด ซึ่งผมก็จะยกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเขายกตัวอย่างของหมากรุกกับเกมส์โกะ หมากรุกนี่หน้าตามันดูซับซ้อนนะครับ มักดูยาก มันดู Complex มีหลายแบบ แล้ว Pattern ของแต่ละตัวหมากรุกนี่ก็ซับซ้อนด้วย ตัวม้าก็เดินอย่าง เรือก็เดินอย่าง ขุนก็เดินอย่าง แต่พอยิ่งเล่นแล้วมันยิ่งง่าย เพราะมันกินกันไปเรื่อย ๆ มันก็เหลือหมากน้อยลง ๆ ความซับซ้อนก็เลยน้อยลง ในขณะที่เกมส์โกะของตะวันออกนั้นหมากทุกตัวเดินเหมือนกัน วิธีเล่นก็เหมือนกัน ตัวหน้าตาหมากก็ง่ายมาก แต่มันยิ่งเล่นยิ่งยาก ยิ่งเล่นยิ่งซับซ้อน ผมก็ถามว่า 2 อันนี้ อันไหนมันคือ Simplicity และอันไหนคือ Complexity มันแยกไม่ออก มันแบ่งไม่ได้ชัดเจน เรามักจะคิดว่า Simplicity มันต้องอยู่ตรงข้ามกับ Complexity ซึ่งผมก็สงสัยอยู่ หรือว่า Simplicity มันจะเกิดจาก Complexity ธรรมชาติเป็นเรื่องที่ผมสนใจ และสิ่งที่ผมสนใจในธรรมชาติก็คือเรื่องคุณสมบัติของ Multiplicity ของมัน ซึ่ง Multiplicity นี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร ผมยกตัวอย่างต้นไม้ 1 ต้นในธรรมชาติ ใบไม้เยอะแยะเต็มไปหมดเลย ถ้าต้นไม้นี้ปราศจากใบไม้ทั้งหมด มันไม่เป็นต้นไม้อีกต่อไป แต่ถ้ามันปราศจากใบไม้แค่เพียง 1 ใบ มันก็ยังเป็นต้นไม้อยู่ ทีนี้คุณสมบัติของ Multiplicity ที่ผมสนใจ และในงานออกแบบของผมนี่มันก็จะมีความคิดตรงนี้ซ่อนอยู่ ว่าทำอย่างไรต้นไม้ของเราซึ่งปราศจากใบไม้ไป 1 ใบ มันก็ยังเป็นต้นไม้อยู่ แต่มันเป็นองค์ประกอบบอกใบไม้ไม่สำคัญใช่ไหม ไม่ใช่เพราะถ้ามันไม่มีใบไม้ทั้งหมด มันก็ไม่เห็นเป็นต้นไม้ แต่ถ้าเราเพิ่มใบไม้ไปอีก 1 ใบต้นไม้ก็ยังเป็นต้นไม้อยู่ดี

ระยะหลังนี้ผมสนใจเรื่องความช้านะครับ เพราะผมเชื่อว่ากระบวนการเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่ผมเล่าให้ฟังเมื่อสักครู่นี้ มันเป็นเรื่องของการสร้าง Pattern ผมก็รู้สึกว่าถ้าเราเข้าใจกับ Pattern ที่เกิดขึ้น ถ้าเราบริโภคมันช้าลงนิดหนึ่ง ความคิดสร้างสรรค์มันจะเกิดเร็วขึ้น แล้วผมก็เริ่มสนใจกับความมีค่าของการเดินทาง ก็คือ Going There มากกว่า Being There บางครั้งผมไม่สนใจด้วยซ้ำว่าสุดท้ายแล้วผมจะเดินไปไหน อันนี้ไม่ได้พูดถึงการออกแบบนะครับ พูดถึงการเดินทาง แต่สนใจว่าระหว่างการเดินนี้มันมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ผมจะสนใจอย่างเดียวว่าผมต้องไปตรงนั้น ผมต้องไปตรงนี้ แต่ปัจจุบันนี้ปรากฏว่าระหว่างการเดินนี้ มันมีค่าสำหรับผมเพิ่มมากขึ้น

ความธรรมดา จริง ๆ แล้วความธรรมดามันเป็นเรื่องยาก หากจะออกแบบเก้าอี้ตัวหนึ่งให้ดธรรมดาธรรมดานี่มันเป็นเรื่องยากมาก หมายความว่า ความธรรมดานี้มันผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านความคิด ผ่านการกระแทกกระทั้นมาอย่างดีแล้ว แล้วก็ให้มันหล่นออกมาเป็นความธรรมดาได้ แต่ปัญหาของเราเวลาเราเป็น Designer หรือเป็น Architect เวลาเราบอกลูกค้าว่า ผมจะทำงานแบบธรรมดาธรรมดาให้นะครับ เขาคงไม่เอาอะนะครับ เขาบอกว่าจ้างก็ไม่คุ้ม คุณดวงฤทธิ์ จ้างแล้วต้องไม่ธรรมดาสิครับ แล้วทำไมมาออกแบบให้ผมแบบธรรมดา อันนี้มันเป็นปัญหาของพวกเราที่ต้องอธิบายว่า จริง ๆ แล้วธรรมดานี่มันยากนะครับ

ก็เริ่มจากงานธรรมดานะครับ อันนี้ก็เป็นโรงแรมอันแรกที่ผมทำ ที่เกาะลันตานะครับ หลายคนคงรู้จัก อันนี้เป็น Sketch ครั้งแรกที่ผม Sketch หลังจากไปดู Site ครั้งแล้ว Sketch แรกของผมนี้เป็นตึกสูง 18 เมตร เลยนะครับ แล้วลูกค้าก็ถามคำเดียวว่า “แล้วมันจะกันฝนยังไง” ผมก็บอกว่า “เออ ผมลืมคิดไป” ผมก็เลยลดมาเหลือ 6 เมตร แล้วก็มันก็เริ่มจาก Sketch ธรรมดาแบบนี้แหละครับ มันก็เริ่มจากความคิดธรรมดา มันไม่มีปรัชญาอะไรสลับซับซ้อนมากนะครับ เพียงแต่เราเห็นว่าต้นไม้มันเยอะ และเราก็อยากให้มันเห็นต้นไม้เยอะ ๆ เราก็ทำตึกสูงหน่อย เพื่อจะได้เห็นลำต้นต้นไม้เยอะ ๆ แล้วก็พยายามทำให้ตึกมันหายไปในธรรมชาติ โดยใน Site มีต้นไม้อยู่ 167 ต้น ผมตัดไปแค่ 3 ต้นเอง อันนี้คือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดนะครับ ไม่ใช่ Architecture โรงแรมนี้พอทำเสร็จในปี 2002 ก็มีหนังสือ Wallpaper ที่อังกฤษลงโรงแรมนี้ไป เขามาถ่ายตั้งแต่ยังไม่ค่อยเสร็จดีด้วยซ้ำ และก็เป็นครั้งแรกที่งานของผมออกไปสู่ International Publication มันเพียงแค่ลงหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วชื่อผมก็ไปติดอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของทุก ๆ อย่าง และทำให้ผมเข้าใจว่ามันมีคุณค่า ซึ่งตอนที่เราทำเราก็ไม่รู้หรอก ปรากฏว่าฝรั่งเขาชอบ ใน Article เขาก็เขียนว่า “ไม่เคยมีใครทำสิ่งที่เรียกว่า Modern Language Architecture บน Beach Front มาก่อน ใน Tropical Area มาก่อน” ซึ่งเราก็ว่า “เออ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน” เราก็คิดว่าเราทำในสิ่งที่เราอยากทำ มันก็กลายเป็นว่ามี Recognition ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็เริ่มมีหนังสือที่นำไปลงเรื่อย ๆ ทั้งที่อังกฤษ และที่ฝรั่งเศส แล้วผมก็ชอบในเวลาที่เขามองงานของเราในมุมมองที่เราก็ไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อน ซึ่งก็สนุกดี แล้วก็เริ่มรู้สึกว่า มัน Work เพราะทำไมเขาจึงชอบกันล่ะ และจุดที่สำคัญของ Project นี้คือการได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของ Design Hotel ซึ่ง Design Hotel นี้เป็นกลุ่มสมาชิกโรงแรมนะครับ เขาไม่ใช่ Chain แต่ป็นกลุ่มสมาชิกโรงแรมซึ่งมีความสำคัญมาก ซึ่งเราได้รับคัดเลือกเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเจ้าของโครงการเขาไป Apply แล้วเขาก็มาดูแล้วเขาชอบ เขาก็เลยรับเข้าไป มันก็เลยทำให้โรงแรมนี้ในแง่ของธุรกิจก็มีความเจริญเติบโตขึ้น แล้วก็เป็นที่รู้จักไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เราคิดนี้มันโดน ซึ่งถ้าถามว่ามันมี Marketing Research ไหมว่าการที่จะทำโรงแรมเพื่อให้ฝรั่งชื่นชอบนี่ต้องทำอย่างไร ซึ่งถ้าผมไปคุยกับ Chain โรงแรมก็ไม่เกิดอะนะครับแบบนี้ ที่ได้ทำก็เพราะเจ้าของเขาทำไม่ค่อยเป็น และผมเองก็ออกแบบไม่ค่อยเป็น และเราก็นึกว่าเราอยากทำอะไรเราก็ทำอย่างที่ใจเราอยากทำจริง ๆ มันก็เลยเกิดเป็นโรงแรม Costa Lanta แล้วก็ปรากฏว่ามันก็ได้ Recognition เต็มไปหมด จริง ๆ แล้วมันเกิดจากการทำไม่เป็นนะครับ ไม่ใช่เกิดจากความเก่ง

พอทำโรงแรมนี้เสร็จแล้วผมก็เจอเรื่องราวเกี่ยวกับโรงแรมอีกเยอะแยะ และก็ได้คุยกับ Hotel Operator ได้คุยกับเจ้าของโรงแรม และก็ได้อ่าน Research เยอะมากเลย เพราะลูกค้าที่มาจ้างเราออกแบบงโรงแรม ก็จะนำเอกสารงาน Research มาให้เราอ่าน ซึ่งหนาประมาณ 1 นิ้ว มันมีตัวเลขอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราเรียกว่า Occupancy Rate มันจะลดลงเมื่อจำนวนห้องมากขึ้น ซึ่งตัวข้อมูลนี้ผมนำมาจาก Research จาก Singapore โดยถ้าจำนวนห้อง 200 ห้อง Occupancy จะอยู่ประมาณ 30% แต่ถ้าจำนวนห้องมี 20 ห้อง ค่า Occupancy จะขึ้นไปถึงเกือบ 50% และที่น่าสนใจคือว่า ถ้าห้องน้อยนะครับค่าห้องแพง โดย 1 ห้องราคาประมาณ 12,000 บาท ต่อคืน แต่ถ้าเกิด 200 ห้องนี้ยังไงคุณก็ได้เฉลี่ยประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อคืน และการลงทุนของจำนวนโรงแรมที่เยอะขึ้นนี้ ราคาห้องก็จะสูงเป็นเงาตามตัว ผมก็เลย Plot curve มาง่าย ๆ ว่า มันมีความน่าสนใจในแง่ของการได้เปรียบนี่อยู่ตรงไหนบ้าง แล้วก็เอาข้อดีข้อเสียมาหักกัน โดย Curve มันบอกว่า Area ที่น่าสนใจน่าจะอยู่ประมาณ 20-100 ห้อง ซึ่งตรงนี้กำไรเร็ว ลงทุนน้อย และ Operate ง่าย ผมก็นำข้อมูลตรงนี้คุยกับลูกค้าไปเรื่อย ๆ

ก่อนที่จะไปถึงโรงแรมอันอื่นที่ผมได้ทำ ผมก็มีโอกาสได้ทำ Project เล็ก ๆ ที่กรุงเทพอีก 2-3 อัน ยกตัวอย่างเช่น Project H1 หลายท่านก็คงรู้จัก ตอนนี้สภาพก็คงไม่เหมือนตอนต้นแล้ว แต่รูปนี้ถ่ายตอนที่สร้างเสร็จใหม่ ๆ ซึ่งผมไม่ได้ชอบ H1 ในแง่ของ Architecture แต่ผมชอบในแง่ที่ว่ามันเปลี่ยนความคิดของซอยทองหล่อไป คือแต่เดิมซอยทองหล่อเป็นย่านที่อยู่อาศัย ตอนนั้นไม่มี J Avenue ไม่มี Play ground ไม่มีตึก Commercial อะไรอยู่แถวนั้นเลย แล้วเราก็โยน H1 ลงไปในทองหล่อ เราก็บอกว่านี่แหละ Urban Commercial Space มันควรจะเป็นแบบนี้ โชคดีที่เจ้าของหลงกลเชื่อ แล้วก็ทำ H1 ออกมาอย่างที่เราเห็น มันก็ไปเปลี่ยนความคิดของ Commercial Area ในทองหล่อว่าอ๋อ มันไม่ต้องเป็นตึกสูงก็ได้นะ มันไม่จำเป็นต้องเป็น Shoping ใหญ่ ๆ ก็ได้ มันเล็กได้ มันเป็นไปได้ ผมเชื่อว่า Design หรือการออกแบบนี้เป็นตัวสร้างธุรกิจ ไม่ใช่ธุรกิจที่มาสร้างงานออกแบบ เพราะฉะนั้นเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าเราเป็นผู้นำนะครับ ไม่ใช่ลูกค้าเป็นผู้นำ ธุรกิจเขาเกิดได้เพราะเรา ไม่ใช่เขามีธุรกิจแล้วเขามาบอกเราให้เราทำ มันทำไม่ได้ ต้องบอกให้เขาเข้าใจตรงนี้ว่า Design มันเป็นตัวนำธุรกิจ

ผมให้ดูอีก Project หนึ่ง ซึ่งเป็น Project ร้านอาหารเล็ก ๆ ริมทะเลที่เกาะสมุย ซึ่งผมเป็นคนทำ ชื่อ Project The Pier ปัญหาของ Project นี้นะครับ ก็ทำไปใกล้จะเสร็จแล้ว ลูกค้าก็บอกว่า “คุณดวงฤทธิ์ ครับ ผมไม่มีงบประมาณซื้อ Furniture เลย คุณดวงฤทธิ์ ช่วยออกแบบให้หน่อยได้ไหม” ผมก็บอกว่า “เราก็มีความสนใจในการทำ Furniture อยู่แล้ว” แต่เราทำ Furniture เนื่องจากว่าส่วนหนึ่งมาจากที่ลูกค้าไม่มีงบประมาณในการซื้อ Furniture แต่เราไปคิดเงินเขาไม่ได้ ผมก็เลยต้องทำบริษัทขาย Furniture เสียเลย เพื่อให้จบปัญหาไป Project นี้ จะให้ดูตัวโซฟาตัวนี้นะครับ จริง ๆ แล้วคิดง่ายนะครับ คือดูแล้วมันง่าย คือเป็นก้อนก้อนเดียว เสร็จแล้วตัวก้อนด้วย Proportion อย่างเดียวนี่ มันสามารถเอามานั่ง แล้วก้อนเดียวกันก็เอามาวางข้างหลัง ก็กลายเป็นโซฟาได้ เคล็ดลับตรงนี้ Dimension นี้บอกได้เลยนะครับว่าสัดส่วนมันพอดี พอพลิกไปพลิกมาแล้วมันพอดี แล้วมันก็ยังสามารถนำไปต่อได้อีกหลายแบบ น้องที่ Office ผมเขาก็ช่วยกันคิดตัวมุมตรงนี้ เพื่อให้มันยึดเข้าหากันได้ แล้วก็ไม่หลุดออกจากกัน มันสามารถที่จะ Extend ไปได้อีกเรื่อย ๆ ก็เลยเกิดแนวความคิด จริง ๆ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิดที่มีอยู่แล้ว แล้วก็ทำให้ผม Develop Brand Furniture ที่ชื่อว่า Anyroom ซึ่งก็ทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งก็ทำให้ความคิดของ Furniture นี้มันไปอีกระดับหนึ่ง เราก็เลยมาดูเมือง ซึ่งเมืองจริง ๆ แล้วมันเป็น Influential มันมีอิธิพลกับชีวิตของพวกเรา และผมก็พยายามจะมององค์ประกอบต่าง ๆ ในเมืองให้มันกลายเป็นงานออกแบบ แล้วดูว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นอิธิพลที่ได้รับจากเมือง อย่าง Furniture ตัวนี้ก็เป็น Furniture ที่น่าสนใจ ซึ่งผมชอบก็คือว่า มันชื่อ Four มันเกิดจากวัตถุสังเคราะห์ 3 แผ่น แล้วก็ตัดง่าย ๆ แล้วก็เสียบเข้าไป วาง Top ก็กลายเป็นโต๊ะแล้ว ข้อดีก็คือว่า เก็บได้ง่าย วันไหนไม่อยากใช้ก็เก็บไป และก็ยังขนส่งง่ายด้วย อีกอันหนึ่งที่อยากให้ดูก็คือว่า คนทั่วไปไม่ค่อยชอบดูแบบนี้ เพราะเวลาพูดถึงกรุงเทพฯ ก็จะนึกถึงเมืองที่สวย ๆ แต่สำหรับผมแล้วไม่รู้ว่ามัน Dark หรืออย่างไร แต่เวลาพูดถึงกรุงเทพฯ แล้วผมรู้สึกอย่างนี้ และผมก็ชอบมันด้วยนะครับ ผมชอบความดิบของมัน ความเถื่อนของมัน และผมก็ทำ Furniture ก็มี Collection หนึ่งชื่อว่าช่างไม้ หรือ Carpenters และนี่คือหน้าช่างที่ทำ Furniture ให้ผม ซึ่งตัว Carpenters นี้สิ่งที่ดีของมันไม่ใช่ Design แต่มันเป็นเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้คือผมเลือกเอาไม้ Recycle จริง ๆ เวลาไปแถวรังสิต หรือขับรถไปแถวต่างจังหวัด เขาเอาไม้เก่ามาขายนะครับ มันจะเป็นเสาไม้ขนาด 8 นิ้ว ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มหายากแล้ว เพราะผมเอามาทำโต๊ะ เก้าอี้หมด ก็ไปซื้อมาจริง ๆ และก็เอาช่างพวกเมื่อสักครู่นี้เลยครับ เรียกว่าแรงงานชาวบ้านนี่แหละทำ ซึ่ง Design ที่เราทำนี้มันทำไม่ยาก ชาวบ้านเองก็สามารถทำได้ เพราะ Design มันง่ายมาก ข้อที่ผมชอบก็คือว่า ไม้พวกนี้ที่มัน Recycle มันราคาถูกมากเลยนะครับ และผมขายที่ญี่ปุ่น โต๊ะตัวนี้นะครับราคา 9 หมื่นบาท ทำไมผมถึงขาย 9 หมื่นบาท ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วต้นทุนก็ไม่แพง แต่เพราะเขายินดีซื้อที่ 9 หมื่นบาท นี่คือพลังของงานออกแบบนะครับ และความฉลาดของการ Recycle คือผมชอบเรื่อง Ecology นะครับ แต่ผมไม่คิดว่า Ecology ควรเป็นเรื่องที่เอามาวางไว้ตรงหน้าเพื่อทำให้คุณดูดี แต่ Ecology ควรจะทำให้คุณรวย และนี่คือวิธีหนึ่งที่ Ecology ทำให้คุณรวย คือคุณเอาไม้ Recycle มาใช้ มันเป็น Ecology เพราะมันเป็นแนวคิดแบบ Recycle ซึ่งต้นทุนของโต๊ะตัวนี้เนี่ยอยู่ที่ 7 พันบาท แต่คุณขายญี่ปุ่น 9 หมื่นบาท เพราะเขาบอกว่ามันมี Value มากสำหรับเขา นี่คือพลังของการออกแบบนะครับ และนี่คือพลังของความคิดในแง่สร้างสรรค์ โดยเอาความคิดของการ Reuse Recycle มาใช้ และผมเชื่อว่า Design เนี่ยเป็นตัวกำหนด Marketing นะครับ โดยไม่มี Marketing หน้าไหนมากำหนด Design ได้ อันนี้ผมรับประกัน ถ้าคุณปล่อยให้ Marketing มากำหนด Design เนี่ย ทุกอย่างจะ Fail คำถามก็คือว่า แล้วงานออกแบบเนี่ยมันก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือว่าเป็นผลมาจากความคิดสร้างสรรค์ อันที่ผมภูมิใจคือการออกแบบที่นี่นะครับ เพราะเป็นที่ที่ผมรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ยาก และจริง ๆ ผมเครียดมากตอนทำ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการทำงานกับลูกค้าที่ทำงานด้วยยาก (หัวเราะ) แต่ว่าเครียดมากเพราะเราจะบอกว่า เราจะทำให้สถานที่แบบนี้นะครับ จะต้องเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมใหม่ของการออกแบบหรือความคิดสร้างสรรค์ โดยที่เราต้องไม่บอกว่าเราชอบอะไร หรือเราเป็นอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงที่สุด คนก็บอกว่า “เฮิ้ย พอเสร็จออกมาแล้ว ออกแบบหรูหรา จริง ๆ แล้วมันไม่มีอะไรนะ พื้นนี่ราคาถูกมาก ฝ้าก็ไม่มี คือทุกอย่างถ้าเข้าไปดูใกล้นี่เถื่อนหมดเลย แต่ประกอบกันแล้วดูใช้ได้ ไม่อายใคร เป็นสิ่งที่ผมชอบตรงนั้น มันไม่ได้เกี่ยวว่าเก่งหรือไม่เก่งอย่างไร อย่างน้อยสถานที่นี้คนที่เป็นสถาปนิกซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกับเรานั้น เขาไม่ได้รังเกียจมัน และเขาก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นสถานที่ที่ไม่น่าอยู่ แต่เขาก็ชอบที่จะมาอยู่ ซึ่งตรงนี้ผมถือว่าเป็นความสำเร็จของผม

โรงแรมอีกอันหนึ่งที่จะให้ดูคือ โรงแรม Alila Cha-am อันนี้ก็อยู่ที่ชะอำนะครับ อันนี้เป็นทางเข้านะครับ เมื่อคุณขับรถเข้ามาคุณจะเจอกับ Court Yard ซึ่งเป็นหญ้าสีเขียวและล้อมรอบไปด้วยต้นไทรอังกฤษ เสร็จแล้วพอคุณเดินมาปึ๊บ คุณก็จะเดินไปที่ Plaza สีขาว เป็นหินอ่อนสีขาวแสบตาเลยนะครับ แล้วก็เดินขึ้นบันไดไปบน Lobby ซึ่ง Lobby ก็มีไม้วางอยู่ 4-5 ท่อน ตรงนี้นะครับ เราก็เรียกว่า Lobby มองไปไกล ๆ ก็เป็น Reflecting Pool ซึ่งล้อมรอบทั้ง 2 ข้างด้วยห้องพัก เสร็จแล้วก็จะเป็นสระว่ายน้ำซึ่งไม่เห็นทะเลนะครับ มันอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีร้านอาหารหน้าตาปะหลาด โรงแรมนี้ก็มีข้อดีอย่างหนึ่งอีกเหมือนกัน คือเจ้าของเขาไม่เคยทำโรงแรมมาก่อน ส่วนมากผมจะได้ตรงนี้แหละครับ ถ้าเกิดทำกับพวกที่เคยทำมาแล้วเขาจะไม่จ้างผม ผมจะได้กับพวกที่เขาไม่เคยทำมาก่อน และทั้งเขาทั้งผมก็มั่วกันทั้งคู่ แล้วงานก็จะออกมาดีนะครับ อันนี้คือตัว Lobby ตัว Study นะครับ เพราะตอนที่ได้ทำ Project นี้ก็ไม่เคยได้ทำ Project ใหญ่มาก่อน ก็รู้สึกตื่นเต้น ก็ลงทุนกันเยอะ พนักงานทั้ง Office 20-30 คนก็มาลุมกันทำหมดเลย ตัด Model Scale 1 ต่อ 25 ซึ่งก็ไม่มีใครเขาทำกัน และก็ศึกษาดูว่ามันใช่หรือเปล่า การตัด Model เห็นแม้กระทั่ง Pattern หิน เพราะกลัวว่า Pattern หินความสัมพันธ์จะไม่เข้ากับ Architecture แสง Effect เข้ามาจะเป็นอย่างไร จะทำได้ไหม จะเกิดหน้าตาอย่างที่เราเป็นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ากระบวนการมันไม่ใช่เรื่องของโชค แต่มันเป็นเรื่องความพยายาม คือใช้ความพยายามเยอะมากในการ Simulate ว่า Design เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริง มันจะให้ผลลัพท์อย่างไร โครงสร้างของร้านอาหารนี้ที่เสาเอียงไปเอียงมาเนี่ย ผลลัพท์มันจะเป็นอย่างที่เราคิดหรือเปล่า อันนี้เป็นร้านอาหารนะครับ ห้องสมุด นี่ Chef ผมนะครับ คือจริง ๆ แล้วการทำงานทุกครั้งสิ่งที่ดีคือการที่เราได้รู้จักคนใหม่ ๆ แล้ว Chef คนนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจคือว่า พี่แกมาอยู่กับโรงแรมนี้ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ แล้วแกก็ซึมซับเข้าไปเรื่อย ๆ ว่าผมพูดอะไร เวลาผมมาประชุมก่อสร้างก็ดูไปเรื่อย ๆ แล้วเขาก็ปล่อยให้ Architecture ไปมีอิธิพลกับการทำอาหารของเขา มีอิธิพลกับ Menu ของเขา มีอิธิพลกับหน้าตาของอาหารที่ออกมา ผมเลยบอกว่าจริง ๆ แล้ว Architecture มันไม่ได้มีอิธิพลแค่คนที่มาพักนะครับ มันยังสามารถกระจายไปยังคนที่ทำงานรอบ ๆ คนที่เป็น Designer เหมือนกัน หรือเป็นคนที่ทำงานสร้างสรรค์เหมือนกันได้ด้วย ซึ่งก็ Powerful เหมือนกัน สุดท้ายมันก็ไปอยู่ในที่ต่าง ๆ นะครับ ซึ่งอันหนึ่งที่ผมชอบคือได้ไปอยู่บนหน้าปกของหนังสือ Travel Leisure ซึ่งจริง ๆ เขาก็มาถ่ายตั้งแต่ตึกยังไม่เสร็จดีด้วยซ้ำ และก็ได้รับให้อยู่ใน Hot List ในปีนี้ ของ Cardenas Traveler ซึ่งเป็นหนังสือที่นักเดินทางทั่วโลกเขาจะดูกัน แล้วเราก็ได้รับเลือกให้อยู่ใน Hot List ของปีนี้ และยังได้รับลงหนังสืออีกหลายๆ เล่ม จริง ๆ แล้วมันก็กลายเป็นสมการไปแล้ว โดยวิธีของธุรกิจมันจะกลายเป็นแบบนี้ไปแล้วว่า เราทำโรงแรมปึ๊บ มันจะลงไปใน Media Coverage แล้วคนก็ Recognize มัน อันนี้ผมให้ดูเพราะว่าผมชอบนะครับ ผมเอามาจากหนังสือของ Arena แล้วก็ถ่าย Fashion และผมรู้สึกว่ามันเป็น Set ของ Fashion ที่ทำให้เห็นว่า บุคลิกของ Fashion มันสอดคล้องกับงานของผม และคนที่เขาไปถ่ายนั้นเขาก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก Architecture อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการทำ Publicity ที่ดีที่สุดเลย โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาแม้แต่สตางค์แดงเดียว อันนี้เป็นงานเลี้ยงงานหนึ่งที่ทาง Design Hotel เขามาจัดประชุมที่เมืองไทย แล้วเขาก็ไปจัดกินเลี้ยงบนหลังคาของ Reflecting Pool ผม ซึ่งจริง ๆ ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยนะครับ แต่บอกว่าบางอย่างนี่มันต้องเปิดช่องให้เกิดความเป็นไปได้ โดยที่อย่าไป Reject มัน ซึ่งงานครั้งนี้เป็นงานเลี้ยงที่สนุกมาก แล้ว Spa Pool ที่ผมให้ดูรูปเมื่อสักครู่นี้ว่าจะสงบนั้น ทุกคนก็เข้าไป Party หมดเลย แล้วสุดท้ายมันก็ลงไปเล่นน้ำกันหมดเลย ซึ่งผมว่า Design มันควรจะ Influential หรือมีอิธิพล หรือควรจะให้แรงบันดาลใจกับสิ่งอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่ไปพัก แล้วก็ทำให้เขามีความสุข

ผมจะให้ดูอีก 2 งานเท่านั้น เพราะเวลาจะหมดแล้วนะครับ ผมเชื่อว่า Design หนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะ Design ก่อนหน้านี้ และก็เกิดขึ้นเพราะ Design ก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นเพราะ Design ก่อนหน้านี้ อันนี้ก็เป็น Project ใหม่ที่ผมกำลังทำอยู่นะครับ ที่เกาะขาม จังหวัดตราด ตอนนี้ก็เริ่มก่อสร้างไปแล้ว เป็นโรงแรมเล็ก ๆ บนเกาะ ซึ่งเจ้าของเขาซื้อทั้งเกาะเลยนะครับ และเขาทำโรงแรมอย่างเดียว และเป็นโรงแรมที่มีอยู่แค่ 24 ห้อง ซึ่งผมก็ไม่ยอมทำให้ใหญ่กว่านี้ และนี่ก็เป็นโครงสร้างของตัว Lobby ส่วนอันนี้เป็นโครงสร้างของร้านอาหาร ซึ่งอันนี้เป็น Model ที่เรา Study โดยอันนี้เป็น Model Lobby อันนี้เป็น Model ร้านอาหาร ยิ่งดูไม่ค่อยเหมือนสถาปัตยกรรมเข้าไปทุกทีนะครับ อันนี้เป็นบ้านพัก แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือสุดท้ายแล้วงานออกแบบมันสร้างสถาปนิก คนมักจะคิดว่าสถาปนิกนี่สร้างงานออกแบบ จริง ๆ แล้วมันกลับกันด้วย

Project ที่จะให้ดูนี้เป็น Project ที่ผมทำตึกสูง เพราะตั้งแต่เปิดบริษัทมาก็ไม่เคยทำตึกสูงเพราะไม่มีใครกล้าจ้าง ก็มีลูกค้าท่านหนึ่ง ท่านกรุณาเมตตาให้ทำนะครับ ก็เป็น Condominium สูงประมาณ 50 ชั้น ซึ่งพวกเราก็ตื่นเต้นอีกแล้ว เพราะไม่เคยทำตึกใหญ่ ก็เรียกว่าคิดกันทั้ง Office เลยว่าจะทำอย่างไร ผมก็คิดเกมส์ขึ้นมาเกมส์หนึ่ง คือการเอาอะครีลิคมาตัดเป็นก้อน ๆ แล้วแต่ละก้อนก็เหมือนกับเราคิดสัดส่วนของห้องพักเอาไว้ แล้วก็บอกว่าให้น้อง ๆ ใน Office มาเล่นกัน เหมือนเล่นตัวต่อ มาช่วยกันต่อมาช่วยกันทำ ผมคิดว่ากระบวนการที่เราทำงานออกแบบนี่บางครั้งมันไม่ได้เป็นนายดวงฤทธิ์ ยืนอยู่บนหอคอยแล้วก็ชี้นิ้วสั่งให้ทุกคนทำ แต่ผมว่าบางที Interaction หรือการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ร่วมงานทุกคนนี่มันสนุกมาก และผมค้นพบว่าใน Project นี้ผมสนุกตรงนั้น ก็คือว่าทุกคนก็ช่วยกันคิด แล้วก็มีส่วนร่วม อันนี้มันทำให้เป็นบ่อเกิดแห่งความสร้างสรรค์คือ มันเป็นไปไม่ได้ที่คนเดียวเก่ง แล้วผมคิดว่าทุกวันนี้ที่เราทำได้คือการที่เราช่วยกันเป็นทีม และนี่ก็คือผลงานของมันซึ่งเป็นผลจากการที่ทีมทำงานร่วมกัน สำคัญคือว่าเราต้องหากลไกให้ได้นะครับ ว่าทำอย่างไรจะให้ทีมทำงานด้วยกันได้ดี อันนี้คือสิ่งที่ผมต้องคิด ไม่ใช่ Architecture นะครับ อันนี้ก็ขึ้นมาเป็นตึกนะครับ โดยอันนี้เป็น Skim แรกนะครับ ซึ่งตอนหลังหน้าตาก็เปลี่ยนแปลงไปจากนี้นิดหน่อย เดี๋ยวผมจะให้ดู มันเป็น Animation ประมาณ 3 นาที นะครับ ลองดูแล้วกันมันสวยดีอะนะครับ แต่เพลงเขาเอามาเองนะครับ

ก่อนจะจบไปนะครับ ผมมีอีกประโยคที่จะพูดถึงอะนะครับ ก็คือว่าผมไม่เชื่อเรื่องความคิดที่ไม่ทำอะนะครับ ผมคิดว่าอย่างที่พี่จิกพูดเมื่อวานคือประโยคหนึ่งที่ว่า “อยากให้เริ่มขีด เริ่มเขียนสักที” คือผมทำงานกับน้อง ๆ หลายคนแล้วรู้สึกว่า มันมัวแต่คิดอยู่ได้ ยังไม่เริ่มเขียน ผมบอกว่า จริง ๆ ที่ผมพูดนี้ไม่ต้องเชื่อก็ได้นะครับ แต่ขอให้เอาไปคิดแล้วกัน แล้วก็ทำอะไรสักอย่าง และก็ทำไปเรื่อย ๆ นะครับ ลงมือทำอะไรสักอย่างเถอะผมขอร้อง ไหว้ล่ะนะครับ อย่ามัวแต่คิดเลยนะครับ แล้วเมื่อคุณทำเสร็จแล้วคุณค่อยเชื่อ เชื่อตัวคุณเองนะครับไม่ต้องเชื่อผม โดยผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรายังไปได้ไม่ไกลสักที ก็เพราะพวกเรามัวแต่คิดโดยที่ไม่ยอมลงมือทำสักที แล้วถ้าทำก็คงจะรู้นะครับว่า จริง ๆ แล้วมันไม่มีทะเลสีส้มหรอกนะครับ ขอบคุณมากครับ

No comments:

Post a Comment