เมื่อก่อนเราเข้าใจคำว่า Globalisation กันในทิศทางเดียว คิดกันไปเองว่า Globalisation นี่หมายถึงการที่ระบบเศรษฐกิจที่เจริญกว่า[1]ต้องเข้าไปครอบงำระบบเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา[2] เสมอ บางคนก็เพ้อเจ้อขนาดว่าเป็นการรุกรานหรือล่าอาณานิคมยุคใหม่ ถ้ายังไม่ล้มตายกันไปหมด ก็คงจะพอเห็นได้ว่าทุกวันนี้การไหล[3] ของ Globalisation ที่ว่านี่มันไหลไปมาทั้งสองที่ทิศทางทั้งจากระบบเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่เจริญกว่าและขณะเดียวกันก็ไหลกลับในทิศทางตรงกันข้าม[4]
ธุรกิจกินวันนี้กลายเป็นเรื่องของการที่การแข่งขันไม่ได้เป็นเพียงเวทีระหว่าง ‘ตะวันตก’ กับ ‘ตะวันออก’ หรือระหว่างชาติใด ๆ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่แข่งขันกันทุกคน ทุกที่ ทุกเรื่อง[5] เหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากสาเหตุใหญ่ที่สำคัญหลีกเลี่ยงไม่ได้ 2 ประการด้วยกัน คือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้การเข้าถึงระหว่างประชากรเหล่านั้น เหนียวแน่น[6] ขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ตำราเศรษฐศาสตร์ที่ใช้กันในปัจจุบัน อาจจะรวมไปถึงตำราทางด้านวิชาการตลาดต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะมีรากเหง้ามาจากช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงปี 1950 -1970 ในช่วงระหว่างปี 1950 ถึง 1970 นั้น จำนวนประชากรในโลกมีอยู่ระหว่าง 3 พันล้านคนถึง 4 พันล้านคน ความคิดต่าง ๆ ในทฤษฎีที่ว่าด้วยอุปสงค์ อุปทานหรือพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ทั่วไปก็ยังเป็นจริงอยู่ได้อยู่บนฐานจำนวนประชากรที่แตกต่างกันอยู่เพียงพันล้านคน
ปัจจุบัน ณ วันที่เขียนบทความนี่ มีประชากรบนโลกทั้งหมด 6,768,828,645 คน เกือบจะ 7 พันล้านคนอยู่รอมร่อ เป็นจำนวนมากกว่า 2 เท่าเมื่อครั้งตำราเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นถูกเขียนขึ้น
ในระบบใด ๆ ภายใต้ Thermodynamics Universe นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าจำนวนของอนุภาคและความเร็วของอนุภาคมีผลต่อสมดุลย์ของระบบเสมอ แม้ว่าระบบจะเคยอยู่ในสมดุลย์ แต่หากจำนวนอนุภาคมากขึ้นเท่าตัว ประกอบกับความเร็วที่เพิ่มขึ้น ระบบจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลย์ใหม่ที่เต็มไปด้วยความโกลาหล ที่เราเรียกว่า FFE : Far From Equilibrium ที่จุดนี้ ระบบยังรักษาสมดุลย์ไว้ได้ ไม่ถึงกับเปลี่ยนสถานะไป แต่ก็ปริ่มเต็มที่ วุ่นวายเต็มที่ ก่อนจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลย์ใหม่ น้ำที่ร้อนเดือดจนเกือบจะกลายเป็นไอ แต่ยังไม่กลายเป็นไอเสียที ความร้อนทำให้โมเลกุลของน้ำวิ่งชนกันวุ่นวายปั่นป่วนจนเต็มที่ จำนวนโมเกกุลที่วิ่งไปมาได้มีมากและโมเลกุลนั้นได้รับพลังงานความร้อนจนวิ่งได้เร็วเต็มที่ จุดนี้เองที่เราเรียกว่า Far From Equilibrium[7] ถ้ายังได้รับความร้อนต่อไป โมเลกุลของน้ำเหล่านั้นก็จะกลายเป็นไอน้ำและเข้าสู่สมดุลย์ใหม่ที่เสถียรขึ้น[8] ยังเคลื่อนไหวกันรวดเร็วเหมือนเดิมแต่โกลาหลน้อยลงและเสถียรมากขึ้น
ที่จุดสุดยอดของ FFE นี้เองมีหลายอย่างที่อธิบายไม่ได้ ทฤษฎีพื้นฐานบางอย่างนำมาใช้หรือมาอธิบายบางปรากฎการณ์บางอย่างไม่ได้ทั้งหมด สิ่งที่ปรากฏคือรูปแบบ[9] ของพฤติกรรมและการทำนายพฤติกรรมของระบบ จำเป็นจะต้องใช้การสร้างภาพจากรูปแบบ[10] เพื่อทำนายพฤติกรรมของระบบนั้น[11] หากเอาทฤษฎีซึ่งมีลักษณะหยาบกว่ารูปแบบของพฤติกรรมมาใช้เพื่อทำนายระบบแล้ว เห็นทีจะมีโอกาสผิดพลาดอยู่เยอะได้เหมือนกัน
แนวความคิดนี้สามารถหาข้อสนับสนุนได้จาก Complexity Theory และ Chaos Theory ซึ่งให้ความสำคัญกับรายละเอียดและความซับซ้อนของระบบอย่างที่เป็นและไม่ได้พยายามอธิบายระบบแต่เพียงผิวเผินจากทฤษฎีพื้นฐานแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น Chaos Theory ให้ความสนใจอย่างมากับ ‘จำนวน’ ของประชากรในระบบที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของระบบให้อยู่ในสมดุลย์ที่ต่างออกไปและ Complexity Theory ที่ให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาหรือทำนายพฤติกรรมของระบบโดยใช้แผนภาพและรูปแบบ[12] เข้ามาอธิบายมากกว่าตัวเลขและการคำนวณ การนำ Phase space map diagram ต่าง ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีว่าการแก้ปัญหาหรือทำนายพฤติกรรมระบบด้วย ‘ภาพ’ น่าจะเหมาะกับระบบที่มีความซับซ้อนและ ‘จำนวน’ ที่มาก ได้ดีกว่าหน้ากระดาษที่เต็มไปด้วยตัวเลขมากมาย
เข้าทำนองหนึ่งรูปภาพพูดได้พันคำ ประมาณนั้น
การคิดเป็นภาพและ Pattern Recognition จึงกลายมาเป็นแนวทางใหม่ในการทำความเข้าใจระบบต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัต[13] มากขึ้นอย่างระบบเศรษฐศาสตร์ของโลกในปัจจุบันกับประชากรจำนวน 6.7 พันล้าน ที่จะกลายเป็น 8 พันล้านในอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า จำนวนที่มากขึ้นนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาช่วยทำให้แต่ละปัจเจกของประชากรนั้นเคลื่อนไหวในระบบธุรกิจได้อย่างมีพลวัตมหาศาลเปรียบเสมือนการให้ความร้อนกับโมเลกุลของน้ำจนเกือบเดือด คงพอจะเดากันได้ว่าเทคโนโลยีที่สำคัญนั้นคืออะไร
ปัจจุบันประชากรในโลก 1.46 ล้านคนเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Internet คิดเป็น 21.8% เมื่อเทียบจำนวนประชากรทั่วโลก
เรื่องที่น่าสนใจก็คืออัตราการเติบโตที่ผ่านมาในช่วงปี 2000 – 2008 นั้น เป็นอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยถึง 391.2% ต่อปี และใน 10 อันดับแรกของจำนวนผู้ใช้ Internet ในแต่ละประเทศ เป็นประเทศในเอเชียเกือบครึ่งหนึ่งและจำนวนผู้ใช้ Internet ที่มากที่สุดในโลกคือประเทศจีน มากกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามมาในอันดับสองถึง 33 ล้านคน
Internet เชื่อมต่อประชากรเข้าหากัน เชื่อมต่อธุรกิจเข้าหากันโดยปราศจากขอบเขต[14] ของประเทศอีกต่อไป ธุรกรรมต่าง ๆ เคลื่อนหากันได้อย่างมีผลวัต รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยมีคำนิยามว่าธุรกิจขึ้นมาในโลก เมื่อเหตุทั้งสองประกอบกับปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้นและพลวัตของประชากรนั้นจึงเป็นเหตุให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติไปตามหลักของ Thermo Dynamic Universe ความโกลาหลที่เกิดขึ้นเป็นสมดุลย์ที่อยู่ Far From Equilibrium ซึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่สามารถอธิบายด้วยทฤษฎีหยาบเช่นเดียวกันในสมดุลย์ปรกติ ต้องใช้ความเข้าใจถึงรูปแบบ[15] ที่เกิดขึ้นและการคิดโดยมองเห็นเป็นภาพและองค์รวมเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าใจและคาดการณ์พฤติกรรมของระบบได้
ในโลกใบใหม่นี้ธุรกิจเชื่อมโยงเข้าหากัน จากหน่วยย่อย[16] ถึงหน่วยย่อยด้วย เครือข่าย Internet ที่มีประสิทธิภาพรวดเร็ว แข็งแรงและสลับซับซ้อน ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งโลกเชื่อมโยงกันกลายเป็นระบบเดียว ความแตกต่างในกลไกที่มีภูมิประเทศเป็นเงื่อนไข เริ่มจะลดลงและหายไปธุรกิจขนาดเล็กเพียง 5-10 คน ก็สามารถเปิดตลาดออกเชื่อมโยงระดับโลกได้ในพริบตา
การเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวนั้น เอื้อประโยชน์มหาศาลกับเศรษฐกิจโดยรวม การเคลื่อนไหว[17] เป็นอย่างรวดเร็วยิ่งยวด แรงเสียดทาน[18]ในระบบน้อยลง ซึ่งเป็นผลดีในทางเศรษฐศาสตร์แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบแบบใหม่ตามหลักของ Chaos Theory ที่เรียกว่า The Butterfly Effect
หากผีเสื้อขยับปีกในบราซิลก็จะทำให้เกิดพายุใน Texas ได้หรือไม่ [19]
ผลกระทบในระบบจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในระบบก่อให้เกิดผลทับทวีคูณในระบบที่ซับซ้อนและมีขนาดมหาศาลนั้น ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะเป็นลูกโซ่อีกต่อไป แต่มีลักษณะที่ทวีตัวขึ้น เนื่องมาจากความซับซ้อนและเป็นพลวัตของระบบความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของระบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือสถาบันการเงินจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องที่ขยายวงใหญ่ขึ้น อย่างที่เห็นในช่วงปี 2008 – 2009 ที่ผ่านมา ถ้ามองแบบตัวเลขและกราฟเส้น ก็น่าจะเชื่อว่าผลกระทบนั้นจะต่อเนื่องยาวนาน แต่ถ้าคิดแบบเป็นภาพ 3 มิติ ก็จะเห็นผลกระทบนั้นส่งแรงกระเพื่อมรุนแรงในระยะแรกและกระจายต้วเป็นวงกว้าง แต่เนื่องจากความซับซ้อนของโครงเชือกตาข่ายแม้ว่าผลกระทบจะกว้างและรวดเร็ว แต่ความแข็งแรงและซับซ้อนของโครงสร้างจะช่วยนำพาให้ระบบทั้งหมดเข้าสู่สมดุลย์อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีใครคิดสั้นภายใต้การคิดแบบตัวเลข[20] โดยพยายามที่จะทำลายหรือตัดโครงข่ายนั้นเสียก่อน เช่น ความคิดเรื่องปิดประเทศ เป็นต้น
ผลกระทบยิ่งมากเท่าไหร่ เราก็จำเป็นจะต้องทำให้โครงข่ายของระบบแข็งแรงและเชื่อมโยงมากขึ้นเท่านั้น เพื่อผ่อนถ่ายแรงกระทบที่เกิดขึ้น แม้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมากขึ้นแต่ก็เป็นไปได้มากที่ระบบจะเข้าสู่เสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว
วิธีเดียวที่จะทำให้โครงข่ายนั้นแข็งแรงขึ้นคือ การสร้างความหลากหลาย[21] ให้เกิดขึ้นในระบบธุรกิจอย่างรวดเร็ว ความหลากหลายทำให้เกิดการเชื่อมโยง ผู้บริโภคมีมากขึ้นและมีความสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้โดยเป็นปัจเจก น่าเสียดายที่ยุทธศาสตร์ทางการตลาดในหลายตำรายังตามไม่ทัน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และนักการตลาดส่วนใหญ่ยังมองเห็นผู้บริโภคเป็นกลุ่ม เป็นกล่อง 4-5 กล่อง ยังพูดถึง Mass Consumption ยังพยายามที่จะจัดกลุ่มของผู้บริโภคให้อยู่ในกลุ่ม A B C D เหมือนกับที่เรียนกันมาในช่วงศตวรรษที่แล้ว ต้องยอมรับว่าผลกระทบของ Internet นั้นมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคมากมายมหาศาล เขาเหล่านั้นมีอำนาจที่จะ ‘เลือก’ ได้จากความหลากหลายที่ไม่มีขอบเขตจำกัดอีกต่อไป สิ่งใดที่เขาอยากได้เขาก็จะได้และการที่ได้มาซึ่งง่ายขึ้นนี้เอง ทำให้ความต้องการที่จะแตกต่างมากขึ้นเป็นเงาตามตัว มนุษย์ทุกคนมีความประสงค์ที่จะแตกต่างโดยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้สินค้าและบริการต้องมีความแตกต่างอย่างมหาศาลตามไปด้วย
วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดความแตกต่างนั้นได้ก็คือการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์
ผมได้สร้างแบบจำลองอย่างง่ายขึ้น ช่วยในการเข้าใจลักษณะโครงสร้างของตลาดที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ในปัจจุบันกรอบความคิดทางวิชาการตลาด ยังแบ่งกลุ่มผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มย่อยที่จำกัดอาจจะ 4- 5 กลุ่ม อาจจะแบ่งตามกลุ่มรายได้ อายุ อาชีพ และอื่น ๆ การแบ่งกลุ่มย่อยโดยหยาบนั้น อาจจะทำให้ความเข้าใจกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้บริโภคยังอยู่ในลักษณะเหมารวมอยู่มากและเป็นไปได้ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งอาจจะมีลักษณะที่คร่อมอยู่ระหว่าง 2 กลุ่มนั้น หรือไม่สามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มใดได้เลย
แบบจำลองของตลาดแบบใหม่ ผมได้พยายามแสดงแทนความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคลด้วยจุดสี ซึ่งสามารถมีความแตกต่างและปะปนกันได้โดยไม่มีขีดจำกัด การทำความเข้าใจกับตลาดในลักษณะที่จะพยายาม ‘จับใส่กล่อง’ นั้น เป็นไปได้ยากยิ่ง เนื่องจากจุดสีเหล่านั้นปะปนไม่แยกออกจากกันแต่หากมองทีละจุด ก็จะบอกได้ชัดเจนว่า จุดนั้นสีอะไร การตลาดแบบอนุรักษ์นิยมก็จะพยายามเสมอที่จะตีกรอบยึดครองจำนวนจุดให้มากที่สุด โดยเสนอกรอบที่ค่อนข้างใหญ่แต่ยิ่งกรอบใหญ่ ก็จะบอกลักษณะของสีในกรอบนั้นได้ยากยิ่งขึ้นว่ากรอบนั้น ‘ประกอบขึ้นจากอะไร’ ปัญหาในการสร้างสินค้าและบริการมารองรับก็จะเกิดขึ้นเนื่องจากสินค้าก็จะขาดลักษณะเฉพาะสำหรับกลุ่มที่ชัดเจน ในวิธีคิดแบบเก่า หากจะพยายามเลือกเฉพาะจุดสีที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาจัดวางอยู่ใกล้กัน เพื่อให้บอกสีในกรอบได้ชัดเจนก็ดูเหมือนจะแก้ปัญหาได้ในเชิงอุดมคติแต่ในทางปฏิบัติแล้ว ส่วนผสมของผู้บริโภคในตลาดเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจัดกลุ่มได้ตามอำเภอใจเช่นนั้น วิธีการมองแบบใหม่ ก็คือตีกรอบให้เล็กลง เมื่อกรอบเล็กลง แม้ว่าจำนวนจุดสีในกรอบจะน้อยลงแต่ก็มีความชัดเจนของลักษณะของกรอบชัดเจนขึ้นจำนวนผู้บริโภคในกลุ่มน้อยลง แต่ลักษณะของสินค้าและบริการมีมากขึ้น ผู้บริโภคเองก็สามารถจะกำหนดกลุ่มของตนโดยมีอัตลักษณ์ที่จดจำง่ายและอธิบายต่อเพื่อนฝูงได้ง่าย ว่าตนเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร มีความสนใจอะไร ปัญหาของนักการตลาดก็เหลืออยู่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้ ‘จำนวน’ ของผู้บริโภคมีมากขึ้นจนอย่างน้อยเกือบเท่าจำนวนของจุดสีในกรอบใหญ่แบบเดิม
การแก้ปัญหาก็คือ เพิ่มจำนวนกรอบให้มากขึ้น
สินค้าและบริการในอนาคต จำเป็นจะต้องมีลักษณะที่ชัดเจน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มที่เล็กลง แต่มีลักษณะเฉพาะมากขึ้น ผู้ผลิตอาจจะสามารถเลือกได้ที่จะลดขนาดของตนลง เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคที่เล็กลงหรือผู้ผลิตขนาดใหญ่เดิมต้องเพิ่มความแตกต่างของสินค้าและบริการให้มากขึ้นและสินค้าที่แตกต่างกันนั้น มีความจำเป็นต้องพุ่งตรงไปล้อมรอบที่เล็กและชัดเจน แต่มีจำนวนกรอบมากขึ้น ด้วยวิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ระบบธุรกิจ สามารถตอบสนองระบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ได้
และการที่จะได้มาซึ่งความแตกต่างกันอย่างมหาศาลของสินค้าและบริการนั้นก็จะได้มาจากการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น
ถ้ามองการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจากศตวรรษที่ 19 ในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อจำนวนของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดการผลิตโดยเครื่องจักรเพื่อผลผลิตที่ซ้ำกันจำนวนมากและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 20 ที่นำไปสู่การเชื่อมโยงและก่อให้เกิดพลวัตของการถ่ายเทในระบบเศรษฐกิจ โดยมี Internet เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญ ปัจจัยทั้ง 2 อย่างที่สำคัญที่จะทำให้ระบบเคลื่อนตัวไปสู่สมดุลย์ใหม่นั้นได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว ศตวรรษที่ 21 นี้รูปแบบของโครงข่ายระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างแข็งแรง มีผลกระทบซึ่งกันและกันตลอดเวลาเป็นระบบใหญ่ระบบเดียว แต่ลักษณะของการบริโภคกลับตอบสนองต่อกลุ่มการผลิตและกลุ่มผู้บริโภคที่เล็กลงและมีความหลากหลายอย่างมหาศาล อุปทานสร้างอุปสงค์และมีความสำคัญต่ออุปสงค์ที่จะกำหนดอุปทานจนอาจจะแยกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าสิ่งใดเกิดก่อนสิ่งใด เหล่านี้อาจเป็นหน้าตาของระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่กำลังจะมาถึง
และเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจใหม่นั้นเกิดขึ้นได้ การสร้างความหลากหลายของสินค้าและบริการจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการองรับระบบและสมดุลย์ใหม่ ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นวิธีเดียวที่จะได้มาซึ่งความหลากหลายและมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ผู้บริหารทำในระดับองค์กรและระดับประเทศจะต้องให้ความสำคัญและกำหนดนโยบายทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ให้อยู่ในโครงสร้างหลักในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในอนาคต ความคิดสร้างสรรค์ ฟังดูเหมือนง่ายแต่ทำยากแต่ในขณะที่จะลงมือทำนั้น จะพบว่าง่ายมาก ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่กระบวนการของผู้มีความสามารถเฉพาะอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของสมองมนุษย์ทุกคน ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะแวดล้อมบางอย่างเหมาะสม การคิดแบบสร้างสรรค์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่กับทุกคน หากมีความเข้าใจก็จะสามารถจัดการกับกระบวนวิธี[22] เพื่อให้ ‘เกิด’ ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นระบบ
ในการจัดการสภาพแวดล้อมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นั้น มีกลไกที่สำคัญที่สุดอยู่เพียง 2 ประการเท่านั้น คือการจัดการให้มีข้อมูลทีเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการจะคิดมากพอและให้มีการรับรู้ข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่สมองโดยวิธีคู่ขนาน[23] ผมยกตัวอย่างสถานการณ์ท้องถิ่นอย่างร้านกาแฟหน้าปากซอยเสมอ คุณลุง 3-4 คน ออกความคิดกันอย่างสนุกสนานในหัวข้อสนทนายามเช้า ความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายจากการสนทนานั้น คุณลุงแต่ละท่านนำข้อมูลในแต่ละหัวข้อจากแง่มุมต่าง ๆ กันมาแบ่งปัน ในขณะเดียวกันการพูดคุยแบบกลุ่ม[24] ก็จะทำให้แต่ละคนนั้นมีการรับรู้ข้อมูลพร้อม ๆ กันแบบคู่ขนาน ทำให้สมองของมนุษย์เกิดการเหนี่ยวนำข้อมูลนั้นโดยธรรมชาติและสร้างระบบรูปแบบ[25] ขึ้น กระบวนการความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถในการสร้างระบบรูปแบบของข้อมูลและ ‘สร้าง’ ความต่อเนื่องของข้อมูลนั้นในทิศทางที่อาจจะสอดคล้องหรือแตกต่างกันก็ได้
จะเห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เป็นเพียงการคิดให้ ‘นอกกรอบ’ แต่เพียงอย่างเดียว ทุกความคิดจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องมีการกำหนดกรอบความคิดที่ชัดเจนเสียก่อน มีข้อมูลที่เพียงพอที่สมองจะสร้างระบบรูปแบบขึ้น การนำข้อมูลเข้าสู่สมองแบบคู่ขนานนั้นเป็นกระบวนการที่ช่วยเร่งให้การสร้างรูปแบบนั้นเร็วขึ้นและทำให้การเหนี่ยวนำของสมองนั้นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในการทำงานในสำนักงานออกแบบของผม เราใช้กระบวนวิธีที่เรียกว่า Pattern Book Catalogue เข้ามาเป็นกระบวนการวิธีที่สำคัญในการสร้างความคิดใหม่ ๆ สำหรับงานออกแบบ ยกตัวอย่างในการออกแบบบ้านที่อยู่บนหน้าผาสักหลัง ทีมงานออกแบบก็จะเริ่มต้นสร้าง Pattern Book โดยการหารูปบ้านซึ่งอาจจะมีลักษณะของที่ตั้งบนริมหน้าผาที่คล้ายกัน (หรืออาจจะไม่คล้ายกันแต่ทำให้นึกถึง) จำนวนมาก บางครั้งอาจจะไม่ใช่รูปบ้านด้วยซ้ำ แต่ดูแล้วอาจจะเข้าใจว่าเป็นบ้านได้มารวบรวมกันเข้าไว้ กระบวนการคัดเลือกข้อมูลนี้ค่อนข้างมีความสำคัญถ้ากรอบของข้อมูลแคบเกินไป ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นก็จะแกว่งตัวในช่องแคบ ซึ่งอาจไม่ได้ความคิดใหม่หรือแปลกใหม่เท่าไหร่ ถ้ากว้างเกินไปก็ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าที่สมองจะสร้างระบบรูปแบบขึ้นในสมองได้ จำนวนของรูปมีความสำคัญเช่นกัน ในบางกรณีทีมงานต้องใช้จำนวนรูปมากถึงเกือบ 100 รูป เพื่อให้เกิดระบบรูปแบบนี้ขึ้นได้
หลังจากได้รูปแล้ว ทุกคนก็จะนำรูปนั้นขึ้นติดบนผนังพร้อมกัน การติดรูปบนผนังเป็นวิธีในการนำข้อมูลนั้นเข้าสู่สมองในลักษณะคู่ขนาน กระบวนการในการส่งข้อมูลเข้าสู่การประมวลของสมองในลักษณะคู่ขนานนั้น มีความสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเป็นเคล็ดลับ อย่างเดียวที่จะทำให้สมองทำงานได้อย่างรวดเร็วทันการ
หากทำตามกระบวนวิธีนี้จนครบถ้วนแล้วเกือบทุกครั้ง ทีมงานจะเกิดความคิดใหม่ ๆ สำหรับงานชิ้นนั้นเสมอและทุกครั้ง ความคิดเหล่านั้นจะไม่มีความคิดใดเลยที่เหมือนกับรูปที่นำขึ้นติด อาจจะมีรากเหง้าบางอย่างที่อ้างอิงได้แต่ความคิดใหม่ที่ได้นั้นส่วนใหญ่จะน่าสนใจและเหมาะสมกับงานมากกว่าทุกรูปที่ติดนั้น หากยังไม่สามารถเกิดความคิดใหม่ขึ้นได้ ทีมงานก็จะเพิ่มจำนวนรูปให้มากขึ้นและอีกไม่ช้าก็จะได้ความคิดใหม่นั้น
นักออกแบบบางท่านสามารถกำหนดเห็น ‘ภาพ’ ของความคิดใหม่ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนวิธีดังกล่าว เนื่องจากมีการสะสม ‘รูป’ เหล่านั้นอยู่ในสมองตลอดเวลา เมื่อมีประสบการณ์มาก ‘รูป’ เหล่านั้นก็มากขึ้นด้วย ก็เป็นเหตุให้การเหนี่ยวนำนั้นแทบจะเป็นไปโดยธรรมชาติ กระนั้นกระบวนวิธีของ Pattern Book Catalogue นั้นก็คงมีความสำคัญสำหรับการทำงานเป็นทีมและช่วยให้การเหนี่ยวนำนั้นเกิดขึ้นในกรอบความเป็นไปได้ที่กว้างขึ้นและรวดเร็วขึ้น โอกาสที่จะได้ความคิดสร้างสรรค์ที่ใหม่ขึ้นก็เป็นไปได้มาก
กระบวนวิธีนี้สามารถใช้กับงานอื่น ๆ ได้ทั้งหมดไม่เฉพาะงานออกแบบ หากลองนำไปประยุกต์ใช้จะพบประโยชน์อย่างมากธ
อีกกระบวนวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้คือกระบวนวิธี Grafting เป็นกระบวนวิธีทีมีความซับซ้อนและยากกว่า Pattern Book Catalogue แต่ให้ความแปลกใหม่ของความคิดที่รุนแรงกว่า
Grafting เป็นกระบวนวิธีที่ใช้หลักการของการ Cross reference ที่ผมใช้ภาษาไทยง่าย ๆ ว่า ‘ฟัน’ [26] ซึ่งการฟันที่ว่านั้นเป็นการฟันแรงจากภายนอก[27] ลงไปบนแรงที่อยู่ภายใน[28] แล้วทำให้แรงทั้งสองนั้นทำงานรวมกันจนกลายเป็นเนื้อเยื่อเดียวกัน[29] เมื่อการเชื่อมต่อดังกล่าวเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ โครงสร้างของสิ่งใหม่ที่ได้มักจะเป็นความคิดใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากแรงภายนอกและแรงภายในนั้นเสมอ
ผมยกตัวอย่างการทำ Grafting ในทางชีวะวิทยา เช่นการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ หรือการทดลองที่ทำบนสัตว์ กึ่งพืชกึ่งสัตว์บางประเภท เช่นตัว Hydra เมื่อทดลองใช้มีดซึ่งเป็นแรงจากภายนอก ตัดลงไปบนตัว Hydra ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยพื้นฐานของแรงภายในทางชีวะวิทยา[30] ก็จะพบว่าการตัดนั้นมีผลทำให้ตัว Hydra มีการเจริญเติบโตในทิศทางใหม่ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งการตัดนั้น ๆ ว่าจะอยู่ในจุดใด การทดลองดังกล่าวทำให้เราได้ตัว Hydra ใหม่ ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน อาจจะมีเค้าโครงของสิ่งมีชีวิตเดิมอยู่บ้าง แต่ก็มีความคิดใหม่ที่แตกต่างออกไป เห็นได้ชัดเจน
ในกระบวนการออกแบบ สถานปิกอาจนำโครงสร้างทางความคิดหนึ่งมา Grafting เข้ากับความคิดอีกอย่างหนึ่งแล้วปล่อยให้ความคิดเหล่านั้น มีการเจริญเติบโตสอดประสานในระดับโครงสร้าง จนกลายเป็นความคิดใหม่ ความยากของการทำ Grafting ก็คือ แม้ว่าแรงภายนอกและแรงภายใน ไม่ควรจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันแต่หากไม่สอดคล้องกันเสียเลย การ Grafting ของความคิดนั้นก็จะไม่เป็นผล ไม่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของความคิดที่เชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียวกัน การทำงานโดยใช้กระบวนการวิธี Grafting นั้นจึงมีความสำคัญมากที่ผู้ปฏิบัติ ต้องมีประสบการณ์สูงมองเห็นโครงสร้างของ Grafting และโครงสร้างของสิ่งที่จะถูก Graft นั้น อย่างมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้มองเห็นความเป็นไปได้ที่ทั้งสอง โครงสร้างนั้นจะเกิดการเชื่อมโยงและเจริญเติบโตได้เมื่อนั้นการทำ Grafting ก็จะมีประโยชน์ สัมฤทธิ์ผลและสามรถสร้างความคิด ‘ใหม่’ ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
ในโลกของเศรษฐศาสตร์ใหม่ ธุรกิจถูกสร้างขึ้นบนโครงสร้างแบบเครือข่าย[31] ทุกคนคือทุกสิ่งคือทุกที่ โลกทั้งใบกลายเป็นตลาดเดียวที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งมีขอบเขตที่ไม่จำกัด ทุกคนกลายเป็นผู้ซื้อและผู้ขายในขณะเดียวกัน[32] ตลาดกลายสภาพจาก Singularly เป็น multiplicity สภาพของขอบเขตระบบเศรฐกิจโดยมีเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดจะหมดไป ความหมายของประเทศจะเหลือเพียงวัฒนธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับระบบเศรษฐศาสตร์ใหม่ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดและปราศจากข้อจำกัดใด ๆ เป็นสิ่งเดียวในศตวรรษต่อไปที่จะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ ทั้งโลกให้สอดคล้องทำให้ธุรกิจเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายด้วยความหลากหลายของสินค้าและบริการ และทำให้ระบบเศรษฐกิจเคลื่อนตัวเข้าสู่สมดุลย์ใหม่ได้อย่างมั่นคง เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่แสนจะวุ่นวายนี้ไป.อ
Necessary Reading.
Thompson , Darcy Wentworth (1961). On Growth and Form. New York : Press Syndicate of the University of Cambridge
Gleick , James (1987). Chaos. England : Clays Lte, St Ives Plc
De Landa, Manuel (1991). War in the Age of Intelligent Machines. New York : Urzone Inc. Zone Books
Waldrop , Mitchell M. (1992). Complexity . London : the Penguin Group
Kauffman , Stuart A. (1993). The Origins of Order. New York : Oxford University Press, Inc.,
Deleuze, Gilles (1993). The Fold. Minneapolis : the University of Minnesota Press
Kelly , Kevin (1994). Out of Control. Great Britain : Cox & Wyman Ltd, Reading, Berks
Kwinter , Sanford . Far from Equilibrium . New York : Actar
[1] Emerging economy
[2] Developed economy
[3] flow
[4] Globality
[5] Competing with everyone from everywhere for everything
[6] cohesive
[7] Stuart A.Kauffman
[8] New Equilibrium
[9] pattern
[10] Phase Space Map Diagram
[11] pattern recognition
[12] diagram and Pattern
[13] dynamics
[14] threshold
[15] pattern
[16] business unit
[17] fluidity
[18] friction
[19] Edward Lorenz Presentation title for 139th meeting of the American Association of Advancement of Science , 1972
[20] linear thinking
[21] diversity
[22] methodology
[23] parallel
[24] group discussion
[25] pattern
[26] cut
[27] external force
[28] Internal force
[29] coherent
[30] biological force
[31] networking platform
[32] eBay